กรุงเทพ 23 กุมภาพันธ์ 2567 - สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือสกสว. เดินหน้าส่งเสริมเกษตรกรรมไทยสู่สินค้าที่มีมูลค่าสูง และก้าวสู่การเป็นซอฟต์พาวเวอร์ผ่านงานวิจัยและการใช้นวัตกรรม พร้อมร่วมเปิด “การแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม “Innovation for Sustainable Local Development: นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 2 Soft power กับการขับคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ : วิถีถิ่นเชียงราย ศิลปะ ดนตรี กวี วิจัย” กิจกรรมนำเสนอผลงานวิจัย นวัตกรรม และสร้างการรับรู้ Soft power อัตลักษณ์ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดเชียงราย ภายใต้การดำเนินงานของชุมชนในพื้นที่และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) และ สกสว. โดยการจัดสรรงบประมาณผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) โดยมีร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน นอกจากนี้ยังโชว์ตัวอย่าง 2 แนวทางการพัฒนาเกษตรที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากขึ้น ได้แก่ การพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตและสร้างมูลค่าใหม่แก่กาแฟแบบครบวงจรในพื้นที่ปางขอน จังหวัดเชียงราย และการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบเนื้อเทียมจากหัวปลีอรรถประโยชน์สูงสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานกลางของประเทศที่มีหน้าที่ในการจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และกรอบงบประมาณด้าน ววน. รวมถึงบริหารระบบงบประมาณด้าน ววน. ผ่านการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ให้กับหน่วยงานในระบบ โดยจัดสรรในรูปแบบงบประมาณแบบวงเงินรวม (Block Grant) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพตามพันธกิจของหน่วยงาน ให้แก่ กระทรวง กรม
โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น การพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตและสร้างมูลค่าใหม่แก่กาแฟแบบครบวงจรในพื้นที่ปางขอน จังหวัดเชียงราย โดย ผ.ศ.ดร.สมฤทัย ตันมา และคณะ ซึ่งได้มีการพัฒนา เพิ่มผลผลิตและสร้างมูลค่าใหม่แก่กาแฟแบบครบวงจร ซึ่งนักวิจัยได้พัฒนารายงานสภาพดินจากแหล่งปลูกกาแฟบ้านปางขอนเพื่อเปรียบเทียบดินปลูกกาแฟจากสวนผสมผสานและสวนเชิงเดี่ยว และการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์กาแฟด้วยการสร้างระบบ AI ข้อมูลรสชาติเฉพาะสายพันธุ์ของกาแฟด้วยจมูกอิเล็กทรอนิกส์ต้นแบบ เพื่อจัดทำระบบฐานข้อมูล AI เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์เฉพาะกลิ่นแต่ละชนิดสายพันธ์จากพื้นที่การปลูกกาแฟต่างๆ ของจังหวัดเชียงราย เป็นผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟ GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยมีผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ในแบรนด์สินค้า "เชียงอาย" อีกทั้งสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบกาแฟคาเฟอีนต่ำจากพื้นที่ปางขอน ในชื่อแบรนด์สินค้า "Little Caffeine" ที่มีปริมาณคาเฟอีนลดลงร้อยละ 93.12 และยังคงสารสำคัญและรสชาติของเมล็ดกาแฟเอาไว้ในเมล็ดได้รวมถึง การสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบเนื้อเทียมจากหัวปลีอรรถประโยชน์สูงสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร และจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ โดย ผศ.ดร.สมฤทัย ต้นมา และห้างหุ้นส่วนจำกัด มาดี ฟู๊ด อินโนเวชั่นจ.เชียงราย ซึ่งใช้หัวปลีเป็นวัตถุดิบหลักที่อุดมไปด้วยเส้นใย โปรตีน มาพัฒนาเป็นเนื้อเทียมที่ประกอบไปด้วยสารอาหารสำคัญที่ช่วยบำรุงและเพิ่มคุณค่าสารอาหารในน้ำนมแม่ เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ แคลเซียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม สังกะสี ทองแดง อีกทั้งยังมีแคลอรี่และไขมันต่ำ และช่วยยกระดับภูมิคุ้มกันในร่างกาย เป็นต้น
“ทั้งสองนวัตกรรมถือเป็นความสำเร็จที่สอดรับกับนโยบายของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งส่งเสริมให้ภาคการเกษตรเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงประชากรทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี โดยจากข้อมูลการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 923,551 ล้านบาท สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ประมาณร้อยละ 8.5 ของ GDP ทั้งประเทศ และมีเนื้อที่ทางการเกษตร 147.7 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.1 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ อีกทั้งมีสัดส่วนแรงงานภาคเกษตรประมาณร้อยละ 46.4 ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ และที่สำคัญภาคเกษตรเป็นแหล่งวัตถุดิบหรือต้นน้ำของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขับเคลื่อนการทำงานและบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างสินค้าเกษตรมูลค่าสูงต่อไป”
รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวเสริมว่า การนำแนวคิดซอฟต์พาวเวอร์มากระตุ้นสินค้าทางการเกษตรถือเป็นอีกนโยบายที่มีความสำคัญ เนื่องจากเกษตรกรรมเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีความเชื่อมโยงกับกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว การเป็นวัตถุดิบหลักต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร การนำมาพัฒนาเป็นบริการและสินค้าสร้างสรรค์ ฯลฯ ซึ่งการเพิ่มมูลค่าต้นทุนของประเทศที่มีมาอย่างยาวนานนี้จำเป็นต้องใช้วิจัย และนวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อทำให้การแข่งขันและการเติบโตเป็นไปอย่างรวดเร็ว พร้อมปรับแนวคิดให้เกษตรกรที่ถือเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมนี้ให้เปลี่ยนวิถีเดิม ๆ มาสู่วิธีการที่ทันสมัยขึ้น
#สกสว #กระทรวงเกษตร #สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น