กรุงเทพฯ 3 กรกฎาคม 2567 - #สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (#สกสว.) ร่วมกับ #หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (#บพข.) #การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (#ททท.) และ #สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (#ATTA) ร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การตลาดภาคการท่องเที่ยวและบริการ ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตลอดห่วงโซ่คุณค่าอย่างยั่งยืนบนฐานทรัพยากรของประเทศ และสอดคล้องตามแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 (ววน.) ในด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตามแนวทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ผ่านการทำงานและขับเคลื่อนร่วมกันตามบทบาทภารกิจของแต่ละหน่วยงาน โดยใช้กลไกการสนับสนุนงบประมาณวิจัยที่มีโจทย์ความต้องการของภาคเอกชน เพื่อให้เกิดผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลกระทบในวงกว้าง โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธี
ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว.ได้มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว.เป็นผู้แทนเข้าร่วม พร้อมกันนี้ ด้านของ บพข. รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. ได้มอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์วิจัย บพข.เป็นผู้แทน สำหรับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีนายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ในฐานะผู้แทนผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ ATTA มี นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการวิจัยของแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ งบประมาณจากกองทุนส่งเสริม วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท เพื่อมุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว (Tourism Hub) พร้อมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวร่วมกับภาคเอกชน สมาคมแอตต้า รวมทั้งสมาคมอื่นๆ ซึ่งถือเป็นหัวจักรสำคัญของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและหน่วยงานในสังกัด พร้อมสนับสนุนเต็มกำลัง นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้แทนสมาคมต่างๆ เสนอประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้งการเปิดตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง การเพิ่มเที่ยวบิน การพิจารณาเรื่องวีซ่า การแต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทย รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) รองรับสังคมผู้สูงอายุเพื่อคุณภาพชีวิต การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวกลุ่มฟื้นฟูสุขภาพ กลุ่มครอบครัว กลุ่มผู้พิการ ถือเป็นตลาดนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ซึ่งการพัฒนานี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยองค์ความรู้จากฐานงานวิจัยและพัฒนา เพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพสูงนี้ให้ได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยในระดับมาตรฐานสากลตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในปัจจุบันกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ดำเนินการพัฒนาอารยสถาปัตย์ (universal design) เตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวสำหรับคนทุกคนในสังคมได้อย่างเท่าเทียม
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. ในฐานะผู้แทนผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างปี พ.ศ. 2559-2562 สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละประมาณ 2.1 ถึง 2.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 18 ของ GDP และรัฐบาลมีนโยบายเชื่อมโยงระหว่างการท่องเที่ยวกับ ซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ เสน่ห์ไทย นำจุดแข็งของมรดกทางวัฒนธรรมมาเป็นจุดขายที่นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสผ่านประสบการณ์ตรง อาทิ ศิลปะการต่อสู้มวยไทย วัฒนธรรมอาหารไทย ผ้าไทย เทศกาลและโชว์ไทย เป็นต้น ความร่วมมือนี้จึงมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการวิจัย การยกระดับและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นที่ 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. ด้าน Demand : ภาพอนาคตการตลาด (Market Foresight) เพื่อปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยใช้ข้อมูลจาก Social Listening และ Foresight การทำงานในด้านนี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่การเพิ่มรายได้และความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว 2. ด้าน Supply : ความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (Carrying Capacity) เพื่อลดปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมืองหลักในกรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ และชลบุรี ด้วยการกระจายนักท่องเที่ยวไปยังเมืองน่าเที่ยวอื่น ๆ โดยนำเสนอข้อมูลผ่าน Dashboard เพื่อให้ภาคเอกชนมีเครื่องมือในการประเมินพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต การกระจายนักท่องเที่ยวจะช่วยลดความแออัดในเมืองหลัก เพิ่มความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว และส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่อื่น ๆ
สำหรับ รศ.ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์วิจัย (บพข.) กล่าวว่า บพข.ในฐานะหน่วยบริหารและจัดการทุนที่ดูแลงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มองว่าในระยะยาว ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับความร่วมมือสำคัญในครั้งนี้ คือ 1. ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว : การท่องเที่ยวของประเทศไทยจะมีความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ 2. การเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่น : เมืองและชุมชนที่ได้รับการกระจายนักท่องเที่ยวจะมีโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น และ 3. การเพิ่มความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว : นักท่องเที่ยวจะได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้นจากการท่องเที่ยวในประเทศไทย นำไปสู่การเพิ่มจำนวนของนักท่องเที่ยวที่กลับมาเที่ยวอีกครั้ง
นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยวผู้แทน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า สำหรับการท่องเที่ยวแห่งประเทศ หรือ ททท. ในฐานะภาครัฐที่เป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยในการสร้างประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าและมุ่งสู่ความยั่งยืน ความร่วมมือนี้แสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนานโยบายและกลยุทธ์การท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับนโยบาย IGNITE Thailand ของภาครัฐที่มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาค
ด้าน นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะกลาง คือ ประการแรก การยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งความร่วมมือของ 4 หน่วยงานสำคัญในครั้งนี้ จะช่วยให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทยมีความสามารถในการปรับตัวและแข่งขันในตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านการตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของนักท่องเที่ยว ประการที่สอง การกระจายนักท่องเที่ยว : ลดความแออัดในเมืองหลักและเพิ่มโอกาสในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ทั่วประเทศ ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ และประการสุดท้ายคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ : ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวมากขึ้น นำไปสู่การเพิ่มรายได้และการสร้างชื่อเสียงที่ดีให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการวิจัยของแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ งบประมาณจากกองทุนส่งเสริม วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ระหว่างภาครัฐ ทั้ง สกสว. บพข. และ ททท. และ ATTA ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี ที่ว่า “เอกชนนำ รัฐสนับสนุน” เพราะภาคเอกชนผู้ที่มีเครื่องมือและข้อมูลที่สามารถช่วยในการวางแผนและปรับกลยุทธ์จะทำให้ธุรกิจสามารถตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการเติบโต ทั้งนี้สมาคมท่องเที่ยวอื่นๆ ก็จะสามารถได้รับข้อมูลและแนวทางปฏิบัติที่ดีจากความร่วมมือนี้ สามารถนำไปปรับใช้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสมาคมและสมาชิกให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวและพัฒนาการท่องเที่ยวในอนาคต สามารถผลักดันการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้มีความยั่งยืนและสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น