กรุงเทพฯ 20 สิงหาคม 2567 - #สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (#สจล.) เปิดตัว ศ.ดร.ปริยาภรณ์ ตั้งคุณานันต์ คณบดีคนใหม่ "#คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี" พร้อมวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนานำคณะมุ่งสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน ชูธงปั้นบัณฑิตคุณภาพให้เป็นมากกว่าครูผู้สอนแต่เป็น “#นวัตกรทางการศึกษา” และ “#แรงงานทักษะสูง” พร้อมโชว์ “#สแน็กจากปลีกล้วย” นวัตกรรมอาหารต้นแบบ เอาใจคนรักสุขภาพ เพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร และสนับสนุนการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน
ศ.ดร.ปริยาภรณ์ ตั้งคุณานันต์ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในฐานะสถาบันชั้นนำในการผลิตครูและบุคลากรคุณภาพ มุ่งมั่นสร้าง “ครูผู้สอน” ที่ไม่ใช่แค่มีความรู้ในสายอาชีพ แต่ยังเป็น“นวัตกรทางการศึกษา” ที่สามารถประดิษฐ์คิดค้น ออกแบบแนวคิด เทคนิค วิธีการ เครื่องมือ สื่อ และรู้จักนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ในการเรียนการสอนเพื่อดึงดูดความสนใจ และเพิ่มศักยภาพผู้เรียนได้อย่างรอบด้าน อีกทั้งยังสามารถต่อยอดไปเป็น “แรงงานทักษะสูง” ที่ประกอบอาชีพได้หลากหลายสาขาและตรงตามที่ตลาดแรงงานต้องการ
“โดยมากคนจะเข้าใจว่าเด็กที่จบครุศาสตร์ฯ ต้องไปเป็นครูอย่างเดียว ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจผิดเพราะจากสถิติที่ผ่านมา เด็กที่จบไปส่วนใหญ่เป็นครูไม่ถึง 40% ที่เหลือจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรม และสถานประกอบการต่างๆ อาทิ นักวิชาการ นักฝึกอบรม เป็นเทรนเนอร์ในโรงงานอุตสาหกรรมออกแบบหลักสูตรฝึกอบรม ช่างชำนาญการ เป็นต้น อีกทั้งคณะยังมีการ “ฝึกงาน” และ “ฝึกสอน” ทำให้เมื่อเรียนจบจะได้ใบประกอบวิชาชีพครู และหากอยากไปสายอาชีพเฉพาะทางอย่าง วิศวกร หรือ สถาปนิก ก็สามารถไปสอบใบประกอบวิชาชีพเฉพาะทางของสาขานั้นๆ ได้เช่นเดียวกัน” ศ.ดร.ปริยาภรณ์ กล่าว
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มีหลักสูตรทั้งหมด 27 หลักสูตร ปริญญาตรี 8 หลักสูตร ปริญญาโท 10 หลักสูตร ปริญญาเอก 9 หลักสูตร ในจำนวนนี้เป็นหลักสูตรนานาชาติ 6 หลักสูตร โดยทุกหลักสูตรจะมุ่งเน้นการสอนทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ เน้นการเรียนรู้แบบ Practical Learning และดึงศักยภาพของผู้เรียนออกมาให้ได้มากที่สุด พัฒนาทั้งความรู้และทักษะเฉพาะทางของแต่ละสายอาชีพ (Hard Skill) และทักษะทางสังคม (Soft Skill) ควบคู่ไปกับความรู้เชิงลึกในศาสตร์จิตวิทยาการศึกษา การปลูกฝังจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู ฝึกบุคลิกภาพ และคุณลักษณะที่เหมาะสมในการเป็นครูผู้สอน เพื่อให้บัณฑิตที่จบออกไปได้ประกอบอาชีพครูได้อย่างมืออาชีพ และมีทางเลือกในการทำงาน สามารถทำงานทั้งในภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม หรือสายอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ศ.ดร.ปริยาภรณ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการพัฒนานวัตกรรมนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญของคณะครุศาสตร์ฯโดยวัตถุประสงค์หลักของการผลิตนวัตกรรม นอกจากจะเพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจและสังคมส่วนรวมแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างสมรรถนะ เสริมทักษะในการสร้างนวัตกรรมทางอาชีพให้แก่นักศึกษา ในรูปแบบบูรณาการระหว่างการจัดการเรียนการสอน การทำวิจัยเพื่อสำเร็จการศึกษา และการบริการวิชาการ ซึ่งหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากกระบวนการนี้ คือ การผลิตสแน็กจากปลีกล้วย
รศ.ดร.ปิ่นมณี ขวัญเมือง อาจารย์ประจำสาขาวิชาครุศาสตร์เกษตร คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สจล.ผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม กล่าวว่า ที่มาของนวัตกรรมนี้มาจากต้องการสร้างนวัตกรรมอาหารที่เพิ่มมูลค่าผลผลิตและสนับสนุนการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ราคาไม่สูง และใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน อีกทั้งยังต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ปลีกล้วยจึงเป็นวัตถุดิบที่ค่อนข้างตอบโจทย์
“สาเหตุที่เลือกปลีกล้วยเพราะปลีกล้วยเป็น by product ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งโปรตีนและไฟเบอร์ จึงมองว่าน่าจะนำไปต่อยอดได้ ประกอบกับอยากให้เด็กๆ ที่ไม่ชอบกินผักสามารถกินได้ด้วย จึงสนใจนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ขนมกินเล่นที่กินได้เรื่อยๆ แต่มีประโยชน์มากกว่าขนมขบเคี้ยวทั่วไป และยังได้ผสมวัตถุดิบอื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มคุณค่าทางอาหารเข้าไปด้วย เช่น ธัญพืช เม็ดมะม่วงหิมพานต์ Nutritional yeast พร้อมใช้แป้งมันฝรั่งหรือแป้งจากกล้วยดิบเป็นส่วนผสมสำหรับการขึ้นรูปเป็นแผ่น จัดเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเพื่อสุขภาพ (Health food) ไม่ใช้น้ำตาลในส่วนผสมไม่ใช้วัตถุดิบจากสัตว์ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่นิยมกินอาหารที่เป็น Plant base food โดยคุณค่าทางโภชนาการของสแน็กแผ่นจากปลีกล้วย 20 กรัม จะให้พลังงานเพียง 90 กิโลแคลอรี แต่โปรตีนสูง ถึง 3.70 กรัม ไขมัน 3.90 กรัม คาร์โบไฮเดรต 9.90 กรัม และไฟเบอร์ถึง 4.20 กรัม จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เด็กกินได้ผู้ใหญ่กินดี เหมาะสำหรับบริโภคทุกเพศทุกวัย”
รศ.ดร.ปิ่นมณี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสแน็กจากปลีกล้วยที่ทำขึ้นนี้เป็นเพียงผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ยังไม่มีการวางจำหน่าย ซึ่งหากนักศึกษา กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มแม่บ้านใดสนใจสามารถนำไปต่อยอด และสร้างเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งอาจารย์จะช่วยออกแบบสูตรสแน็กให้เป็นสินค้าตัวใหม่ โดยพิจารณาจากวัตถุดิบที่มีในชุมชนและสามารถนำไปพัฒนาได้หลายรูปแบบและหลายรสชาติ
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง ช่องทางการติดต่อของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี https://www.facebook.com/siet.kmitl และ https://siet.kmitl.ac.th หรือติดตามความเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ทางเพจเฟซบุ๊ก สจล. https://www.facebook.com/kmitlofficial และเว็บไซต์ https://www.kmitl.ac.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8000
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น