#สกสว. เดินหน้าใช้ “#การทูตวิทยาศาสตร์” เสริมแกร่งระบบวิทย์ประเทศไทย พร้อมดึงผู้เชี่ยวชาญนานาชาติร่วมเติมความรู้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ และนักนโยบายในกลุ่มประเทศอาเซียน+3
กรุงเทพฯ 9 ตุลาคม 2567 – #สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (#สกสว.) ร่วมกับ #องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (#อพวช.) The American Association for the Advancement of Science (AAAS) และ The World Academy of Sciences (TWAS) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ The Pilot Science Diplomacy Workshop for Early-to-Mid Career Researchers in ASEAN Plus Three โดยได้รับเกียรติจาก H.E. Masato Otaka เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และ Dr. Patricia Gruber ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐมนตรีต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมปาฐกถาพิเศษผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ที่ปรึกษา สกสว. กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการทำให้คนในประเทศไทยพร้อมสำหรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ การเมือง หรือสังคม ซึ่งในอดีตประเทศไทยมีความพยายามที่จะจัดตั้งระบบที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เรียนระบบของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อผลักดันการทูตวิทยาศาสตร์ให้เป็นรูปธรรมต่อไป
ด้าน ดร.คิม มอนต์โกเมรี ผู้อำนวยการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูตวิทยาศาสตร์ สมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อเมริกัน (AAAS) กล่าวว่า AAAS และ Royal Society of London ได้นิยามคำว่า “วิทยาศาสตร์การทูต” ไว้ในวารสาร “New Frontiers in Science Diplomacy” ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2556 ว่า การทูตทางวิทยาศาสตร์เป็นกลไกที่ช่วยให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ ประสานความร่วมมือในประเทศที่มีข้อขัดแย้งกัน อีกทั้งการนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายยังช่วยให้เกิดการตอบสนองความท้าทาย การแก้ปัญหาของโลกได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ดี การสร้างความสัมพันธ์และความเชื่อมั่นระหว่างชุมชนวิทยาศาสตร์ที่มีความแตกต่างกัน ทั้งด้านภูมิศาสตร์ และภูมิรัฐศาสตร์ถือเป็นความท้าทาย
สำหรับการจัดงานครั้งนี้ ได้เน้นย้ำถึงบทบาทและความสำคัญของการทูตวิทยาศาสตร์ที่ประเทศต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ เนื่องจากตอนนี้ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ของโลกมีความอ่อนไหวและส่งผลกระทบต่อการวางยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางด้านวิจัยและพัฒนาในหลายประเทศ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมของบุคลากรวิจัยและนักนโยบายในภูมิภาคอาเซียนในบริบทที่เกี่ยวกับการทูตวิทยาศาสตร์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเมื่อปี 2566 คณะผู้บริหาร สกสว. ได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมปฏิบัติการการทูตวิทยาศาสตร์ “Science Diplomacy workshop” ณ เมืองทริอัสเต้ ประเทศอิตาลี โดยมี TWAS และ AAAS เป็นเจ้าภาพร่วม ซึ่งหน่วยงานทั้งสองมีประสบการณ์และได้จัดกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวมาหลายปีและได้ขยายผลจนก่อให้เกิดการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมที่เป็นทั้งนักวิจัยรุ่นใหม่และนักนโยบายที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 19 คน จาก 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน และประเทศญี่ปุ่น
สำหรับผู้เข้าร่วมอบรมจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวิทยากรที่มีประสบการณ์สูง และฝึกทักษะวิทยาศาสตร์การทูตผ่านกรณีศึกษา อาทิ เรื่องน้ำ พลังงาน และอาหาร ทั้งนี้ สกสว. ในฐานะผู้ริเริ่มการจัดการประชุม The Pilot Science Diplomacy Workshop for Early-to-Mid Career Researchers in ASEAN Plus Three คาดว่าจะขยายการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และการตระหนักถึงความสำคัญของการทูตวิทยาศาสตร์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดระบบที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ในกระทรวงต่าง ๆ และใช้องค์ความรู้ดังกล่าวมาใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย และเชื่อมความสัมพันธ์กับนานาประเทศต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น