#สกสว. ผนึกความร่วมมือหน่วยงานด้านวิทย์ - เทคโนโลยี ลุยร่างแผนพัฒนา วท. ปี 68 – 70 โฟกัส 6 กลุ่มนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สร้างประโยชน์จากการลงทุนอย่างคุ้มค่า
กรุงเทพฯ 30 ตุลาคม 2567 – สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยกลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว. ระดมความคิดเห็นต่อแนวทางการร่างแผนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) พ.ศ.2568-2570 และแนวทางการพัฒนาคำของบประมาณเพื่อสนับสนุนการพัฒนา วท. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 ผ่านการประชุม “Science and Technology Organization Forum (STO Forum) Plus” ครั้งที่ 2/2567 โดยมี รศ. ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร หน่วยบริหารและจัดการทุน หน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมหารือ
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ในปี 2567 กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เริ่มได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากสำนักงบประมาณเพื่อบริหารจัดการโครงการที่ผ่านการคัดกรองจากสำนักงบประมาณ ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 ที่ต้องสนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และในปี 2568 ถือเป็นปีแรกที่ดำเนินการโดยกองทุน ววน. อย่างเต็มรูปแบบ โดยในส่วนการกลั่นกรองคำของบประมาณ ได้มีการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมพิจารณา เพื่อให้ได้โครงการที่ตอบจุดมุ่งเน้น และสร้างประโยชน์จากการลงทุนได้อย่างคุ้มค่า
“ที่ผ่านมา สกสว. มีการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผลการศึกษาจากโครงการศึกษาแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของหน่วยงานวิจัยภาครัฐ พบว่ามีหลายองค์กรที่เป็นหน่วยงานวิจัยภาครัฐที่มีภารกิจด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ กรมการข้าว กรมประมง สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกรมควบคุมมลพิษ จึงเป็นที่มาของการประชุมในครั้งนี้ เพื่อที่จะได้หาจุดที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า โดยเฉพาะด้านการพัฒนาบุคลากร Upskill Reskill ทำให้หน่วยงานสามารถพัฒนาคนได้อย่างตรงตามความต้องการ และการให้ความสำคัญของ Demand มากกว่า Supply”
ทางด้าน รศ. ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวถึงประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน วท. ในระดับนโยบายของรัฐบาล ที่สนับสนุนให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและเป็นสากล รวมถึงการลงทุนที่ต้องมีเป้าหมายชัดเจน สามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้ในวงกว้าง จึงจำเป็นต้องมีแนวนโยบายที่แม่นยำ มีการพิจารณาตั้งแต่ระดับเป้าหมายข้อเสนอโครงการ ที่เป็นไปตามแนวทางการจัดสรรงบประมาณที่กำหนดไว้ สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ มีกลุ่มผู้ใช้ชัดเจน โดยต้องไม่เป็นการเอื้อประโยชน์เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถให้บริการคนทั้งประเทศได้ การมีแผนงานด้าน วท. ที่แม่นยำ จะทำให้เรามีจุดโฟกัสที่ชัดเจน สามารถไปแข่งขันต่อในระดับประเทศได้ ช่วยให้ไทยเติบโตไปข้างหน้า ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมเสาหลักอื่น ๆ ด้วย แต่จะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ โดยหวังว่าการพัฒนาส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้
ขณะที่ ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึง (ร่าง) แผนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ.2568-2570 ว่าได้กำหนดจุดมุ่งเน้นตามลำดับความสำคัญเป็น 6 กลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งเป็นผลจากการที่ สกสว. สนับสนุนงานวิจัยเชิงระบบ โดยได้จัด Focus Group ร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละแผนงาน และด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงได้กำหนดจุดมุ่งเน้นตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ 1. แผนงานเทคโนโลยีดิจิทัลและการประมวลผล 2. แผนงานเทคโนโลยีเซนเซอร์และอิเล็กทรอนิกส์ 3. แผนงานเทคโนโลยีชีวภาพ 4. แผนงานเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5. แผนงานเทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง และ 6. แผนงานเทคโนโลยีขั้นแนวหน้า สำหรับ แผน วท. ฉบับนี้จะใช้ เพื่อเป็นแผนที่นำทาง ชี้ทิศและกำหนดเป้าหมายการลงทุนพัฒนา วท.ใน 3 ปี รวมถึงเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดสรรงบประมาณ วท. และเพื่อให้หน่วยรับงบประมาณสามารถกำหนดแผนปฏิบัติการด้าน วท. ที่สอดรับกับแผนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ได้ระบุชัดเจนว่าจะมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัยและนวัตกรรม ยกระดับนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก การพัฒนางานวิจัยให้เป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถขายสู่ตลาดโลกได้จริง สร้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่มและเปิดการร่วมมือกับภาคเอกชนเต็มรูปแบบ
“สกสว. มีการจัด Focus Group ร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละแผนงาน เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย (OKRs) 3 ข้อ คือ 1. ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทัดเทียมสากล 2. ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพที่มีมาตรฐานระดับประเทศหรือสากล เพื่อยกระดับการผลิตและการบริการด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 3. ประเทศไทยมีความสามารถในการเลือกรับและต่อยอดเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดจากต่างประเทศสู่อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ เพื่อมุ่งนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีในระดับสากลและระดับอาเซียน รวมทั้งกำลังคนของประเทศมีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อการพัฒนาประเทศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป”
ทั้งนี้ การประชุมหารือดังกล่าว เป็นการเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็น หารือแลกเปลี่ยนร่วมกัน เพื่อทาง สกสว. จะนำข้อเสนอแนะที่ได้นี้ไปเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาการจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ.2568-2570 รวมถึงแนวทางการพัฒนาคำของบประมาณเพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น