กริชผกา หัวเรือใหญ่ #NIA เชื่อมั่นการขยับอันดับนวัตกรรมไทย ส่งสัญญาณดีสุดในรอบ 10 ปี ส่งต่อไทยสู่ชาตินวัตกรรม - CyberAInews ข่าวธุรกิจ888

CyberAInews ข่าวธุรกิจ888

ข่าวเด่น ดารา บันเทิง ข่าวธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีAi ข่าวธุรกิจ888 cyberainews by chokweekly chokcyberai

Post Top Ad

30 พฤศจิกายน 2567

กริชผกา หัวเรือใหญ่ #NIA เชื่อมั่นการขยับอันดับนวัตกรรมไทย ส่งสัญญาณดีสุดในรอบ 10 ปี ส่งต่อไทยสู่ชาตินวัตกรรม

 กริชผกา หัวเรือใหญ่ #NIA เชื่อมั่นการขยับอันดับนวัตกรรมไทย ส่งสัญญาณดีสุดในรอบ 10 ปี ส่งต่อไทยสู่ชาตินวัตกรรม

 

ปีนี้นับเป็นข่าวดีของวงการนวัตกรรมไทยที่ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2567 หรือ Global Innovation Index 2024 (GII 2024) ซึ่งจัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) ประเทศไทยขยับดีขึ้นมาอยู่อันดับ 41 ด้วยคะแนน 36.9 (เดิมอันดับ 43) ดีที่สุดในรอบ 10 ปี อันดับดีขึ้นจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยการลงทุนด้าน R&D ของภาคเอกชนที่ครองอันดับ 1 ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 5 ปี สัดส่วนการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ จำนวนสิทธิบัตรที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยยังจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าความคาดหวังตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และมีพัฒนาการด้านนวัตกรรมดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบน (Upper middle-income economies) อีกด้วย

 

อันดับนวัตกรรมไทยที่ดีขึ้นในรอบ 10 ปี จากการมีอยู่ของ “ยูนิคอร์น”

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ #สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NIA เผยว่า หากย้อนดูผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกของประเทศไทยตั้งแต่ ปี 2013 – 2024 พบว่าปีนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่มีผลคือ “จำนวนของยูนิคอร์น” จากรีพอร์ตประเทศไทยมียูนิคอร์นจำนวน 3 ราย คือ แฟลช เอ็กเพรสด้านขนส่งโลจิสติกส์ แอสเซนด์ มันนี่ ของกลุ่มทรู คือฟินเทค และวงในไลน์แมน ขนส่งโลจิสติกส์ฟู้ด ซึ่งยังมีโอกาสที่จะผลักดันให้เพิ่มขึ้น ควบคู่กับการปรับแนวทางการดำเนินงานที่ส่งเสริมและสอดคล้องกับมิติตัวชี้วัดต่างๆ ให้อันดับ GII ดีขึ้น เพื่อสะท้อนความพร้อมของประเทศไทยที่จะก้าวไปเป็น “ชาตินวัตกรรม” ซึ่งการขับเคลื่อนดังกล่าว NIA จำเป็นต้องมีเครือข่ายพันธมิตรร่วมเดินทางไปด้วยกัน

 

เส้นทางนวัตกรรมของประเทศไทย โอกาส และอนาคตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) โดย ดอกเตอร์ซาชา วุนช์วินเซนต์ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและวิเคราะห์ข้อมูล และบรรณาธิการร่วมรายงานดัชนีนวัตกรรมโลก ได้เสริมถึงสิ่งสำคัญสำหรับการยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศอย่างยั่งยืน นั่นคือ ความร่วมมือและความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนวัตกรรม เพราะจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน จะเห็นได้จากดัชนี GII ที่ครอบคลุมปัจจัยทางเข้าและปัจจัยผลผลิตที่หลากหลาย ซึ่งต้องมีการขับเคลื่อนทั้งองคาพยพและเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้การสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบอย่างยั่งยืนต้องอาศัยเวลาและการขับเคลื่อนที่ต่อเนื่อง สำหรับประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรม การกำหนดทิศทางและการวางแผนขับเคลื่อนระยาวมีความชัดเจนและมุ่งเป้า ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันให้การยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมและการขยับอันดับดัชนี GII เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลเชิงประจักษ์ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 41 ของดัชนีนวัตกรรมโลก 2024 และอันดับที่ 5 ในกลุ่มเศรษฐกิจที่มีรายได้ปานกลางสูง สะท้อนถึงความก้าวหน้าและการเติบโตที่มั่นคงในด้านนวัตกรรมของภูมิภาคนี้ ด้วยการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงที่จัดอยู่ในอันดับที่ 8 และภาคอุตสาหกรรมที่มีความแข็งแกร่ง เช่น การผลิตและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเทศไทยกำลังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่แข็งแกร่งในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีเอกชนขนาดใหญ่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในขณะเดียวกันระบบนิเวศของเงินทุนร่วมลงทุนก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 15 ของโลกในตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับจำนวนการร่วมลงทุน (VC recipients) แต่ยังคงมีความท้าทายโดยเฉพาะอุปสรรคในการพัฒนาวัฒนธรรมนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยการวิจัย

 

จุดเด่น จุดปรับ จากผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมของประเทศไทยในปี 2567

เมื่อพิจารณาภาพรวมความสามารถทางด้านนวัตกรรมของประเทศไทยทั้ง 7 ปัจจัย พบว่าประเทศไทยมีพัฒนาการและอันดับความสามารถด้านนวัตกรรมเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วในหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางเข้านวัตกรรม (Innovation input sub-index) เช่น สถาบัน ทุนมนุษย์และการวิจัย โครงสร้างพื้นฐาน ระบบตลาด และระบบธุรกิจ และปัจจัยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) เช่น ผลผลิตจากองค์ความรู้และเทคโนโลยี และผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรมที่ไทยมีความโดดเด่น โดยเฉพาะตัวชี้วัดสัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาที่ลงทุนโดยองค์กรธุรกิจ (GERD financed by business) ที่ยังครองแชมป์อันดับ 1 ของโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ซึ่งสะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศที่มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมด้วยการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ยังมีองค์ประกอบตัวชี้วัดที่ต้องเร่งพัฒนา เพื่อเสริมให้อันดับดัชนีนวัตกรรมไทยก้าวไปข้างหน้าสู่การเป็นชาตินวัตกรรมที่แข็งแกร่งมากขึ้น ได้แก่ ปัจจัยด้านการส่งออกบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต่อการค้ารวม (ICT services exports, % total trade) สัดส่วนงบประมาณด้านการศึกษาต่อ GDP (Expenditure on education, % GDP) โดยมีปัจจัยอัตราของคุณครูในโรงเรียน (Pupil–teacher ratio, secondary) ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่ในตัวชี้วัดด้าน Human capital and research ที่ประเทศไทยต้องแก้ไขอย่างจริงจัง และอีกปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาคโรงงานอุตสาหกรรม คือสัดส่วนการใช้พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ (Low-carbon energy use, %) เพราะเห็นว่า Climate Tech กำลังมีบทบาทอย่างมากในปัจจุบันและอนาคต

 

“สิงคโปร์” ต้นแบบใกล้บ้านที่ไทยตามรอยความสำเร็จได้

ดัชนีนวัตกรรมโลก” เป็นตัวชี้วัดความสามารถทางด้านนวัตกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงผลผลิตด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนา ของ 133 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก หรือ WIPO สำหรับประเทศที่มีอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ในปีนี้ ยังคงเป็นสวิตเซอร์แลนด์ (แชมป์ 14 สมัยติดต่อกัน จากปี 2012-24) และหากเจาะดูความสามารถทางด้านนวัตกรรมของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเห็นว่าเกือบทุกประเทศมีอันดับดัชนี GII ดีขึ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่ก้าวกระโดดสูงขึ้น 7 อันดับ อยู่อันดับที่ 54 เวียดนามดีขึ้น 2 อันดับ อยู่อันดับที่ 44 และมาเลเซียดีขึ้น 3 อันดับ อยู่อันดับที่ 33 ส่วนสิงคโปร์ อันดับ 4 ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุดตั้งแต่จัดตั้งประเทศขึ้นมา เนื่องจากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มีนโยบายและเป้าหมายชัดเจนด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม ขีดความสามารถด้านของกําลังคน งานวิจัยและพัฒนา และคาดว่าจะสามารถขยับอันดับได้ดีขึ้นอีกในอนาคต เพราะห่างจากอเมริกาอยู่ที่ 1.2% เท่านั้น

ดร.กริชผกา มองว่า หากประเทศไทยต้องการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้ขึ้นมาทัดเทียมกับกลุ่มประเทศชั้นนำ นอกจากสวิตเซอร์แลนด์แล้ว นโยบายและแนวทางการดำเนินงานของสิงคโปร์ ถือเป็นโมเดลที่น่าสนใจสำหรับนำมาปรับใช้กับประเทศไทย เพราะว่าสิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ขยับจากอันดับ 8 มาเป็นอันดับ 5 แล้วปีนี้ขยับขึ้นไปอันดับ 4 เพราะมีการพัฒนาด้านกำลังคนตั้งแต่เยาวชนจนเป็นแมนพาวเวอร์ มีการจัดตั้งกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ เพราะต้องการทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้ หากพูดถึงเรื่องกําลังคนของประเทศไทย NIA ก็ดำเนินงานร่วมกับหลายภาคส่วนในการเร่งสร้างเยาวชนอนาคตของชาติให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และในด้านอุตสาหกรรม สิงคโปร์มีพื้นที่ไม่มากจึงเน้นไปทางอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยีและไบโอเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยเองก็มีความพยายามในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเชิงลึกมากขึ้นทั้งในกลุ่มเกษตรอาหาร การแพทย์ และการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและโอกาสการเติบโตสูง ซึ่งจะต้องเพิ่มความเข้มข้นในระดับชาติมากขึ้น 


การแท็กทีมของภาครัฐ พิชิตเป้าหมายชาตินวัตกรรม

น.ส. นุสรา กาญจนกูล อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา มองว่า ารจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก มีเรื่องระบบธุรกิจ และการลงทุนด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่จะช่วยวิเคราะห์ว่าแต่ละประเทศควรอยู่ลำดับเท่าไหร่ ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงมีบทบาทสำคัญทั้งการเชื่อมโยงตลาด บ่มเพาะกลุ่มผู้สร้างสรรค์ นักประดิษฐ์ ผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มแข็ง เพื่อนำนวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ และดิจิทัล เข้าไปประกบและผลักดันสินค้า/บริการ จากภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของไทย เช่น ภาพยนตร์ ซีรีส์ อาหาร ฯลฯ ให้มียอดการเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นจนกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่คนทั่วโลกชื่นชม นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและตลาดจากหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ ทั้งกรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเพื่อใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์แนวโน้มรสนิยมของตลาดด้วย “MOC Application Portal” ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พยายามอัพเดทข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เพื่อที่ภาคเอกชนจะสามารถใช้ประโยชน์ได้ เพราะวันนี้การที่จะพัฒนาไปได้ต้องมีข้อมูลที่แม่นยำ น่าเชื่อถือ และมากเพียงพอสำหรับการนำไปวิเคราะห์และใช้ประโยชน์


นายวริทธี ตีรประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เผยมุมมองการผลักดัน GII index ในมิติสินค้าสร้างสรรค์และบริการ (creative good and service) ว่า CEA ให้ความสำคัญทั้งในแง่ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการออกแบบ เพื่อยกระดับความเป็นนวัตกรรม และความสร้างสรรค์ของประเทศไทย โดยมีประเด็นเร่งด่วนที่ดำเนินการอยู่และยังคงสานต่อ คือการพัฒนาคน โดยเน้นสร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อซอฟต์พาวเวอร์ ความคิดสร้างสรรค์ กระบวนการออกแบบ การคิดเชิงออกแบบผ่านโครงการต่างๆ หรือออนไลน์เลิร์นนิ่ง การพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม โดยการจับคู่นักออกแบบหรือนักสร้างสรรค์กับนักธุรกิจ เพื่อบูรณาการสิ่งที่เรียกว่า creative sector กับ real sector เข้าด้วยกัน การพัฒนาเชิงพื้นที่ ภายใต้แนวคิดถ้าเมืองพัฒนา คนพัฒนา ก็จะเกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมในการพัฒนาเมืองรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์ม เครื่องไม้เครื่องมือบางอย่าง เพื่อให้คนมาทำงานร่วมกันในพื้นที่เมืองผ่านงานเทศกาล เช่น เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ Bangkok Design Week หรือ Chiang Mai Design Week รวมถึงกระจายกระบวนการ วิธีคิดไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงกับการพัฒนาคนและธุรกิจต่อไป


ปิดท้ายที่ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ว่า “การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นชาตินวัตกรรม เป็นหนึ่งในโจทย์ท้าทายสำคัญของหน่วยงานด้านนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา สกสว. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณและจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับการทำให้อันดับนวัตกรรมของประเทศไทยดีขึ้นด้วย 3 หลักการ คือ 1. การวางเป้าหมายและกลยุทธ์การดำเนินงานต้องชัดเจน เพราะงบประมาณสนับสนุนจากรัฐมีจำกัด ดังนั้น จึงต้องโฟกัสและมองหาพื้นที่แห่งโอกาสให้กับไทย เช่น Climate Tech ที่ สกสว. กำลังพยายามขับเคลื่อนทั้งในระดับนโยบาย การสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน และการเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพ 2. สร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่แข็งแกร่งด้วยโมเดลการทำงานที่หลากหลาย เพื่อให้สตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนทั้งในตลาดไทยและระดับโกลบอล ผ่านการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุน ววน. ซึ่งไม่ได้ให้ทุนวิจัยแค่มหาวิทยาลัย ยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น กองทุน innovation one ที่ สกสว. ทำร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือการช่วยผลักดันให้นวัตกรรมด้านสุขภาพได้นำไปใช้งานในระบบบริการสาธารณสุขของรัฐมากขึ้น และ 3. สนับสนุนนักวิจัยให้ขยายผลนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นสู่การใช้งานจริง โดยการปลดล็อกให้นักวิจัยเป็นเจ้าของผลงานด้วย พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 หรือ
TRIUP ACT”

 




























 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Ad