#เอ็นไอเอ จับมือพันธมิตรชั้นนำเดินหน้าปั้นสเปซ-เอฟปี 5 ดันไทยแจ้งเกิดฟู้ดเทค #สตาร์ทอัพ เร่งโต 18 สตาร์ทอัพด้านฟู้ดเทคและอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต หนุนไทยสู่ศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยีอาหาร - CyberAInews ข่าวธุรกิจ888

CyberAInews ข่าวธุรกิจ888

ข่าวเด่น ดารา บันเทิง ข่าวธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีAi ข่าวธุรกิจ888 cyberainews by chokweekly chokcyberai

Post Top Ad

14 มกราคม 2568

#เอ็นไอเอ จับมือพันธมิตรชั้นนำเดินหน้าปั้นสเปซ-เอฟปี 5 ดันไทยแจ้งเกิดฟู้ดเทค #สตาร์ทอัพ เร่งโต 18 สตาร์ทอัพด้านฟู้ดเทคและอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต หนุนไทยสู่ศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยีอาหาร

 #เอ็นไอเอ จับมือพันธมิตรชั้นนำเดินหน้าปั้นสเปซ-เอฟปี 5 ดันไทยแจ้งเกิดฟู้ดเทค #สตาร์ทอัพ เร่งโต 18 สตาร์ทอัพด้านฟู้ดเทคและอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต หนุนไทยสู่ศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยีอาหาร


กรุงเทพฯ 14 มกราคม 2568 - #กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (#อว.) โดย#สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ #NIA ร่วมกับบริษัท #ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) #มหาวิทยาลัยมหิดล และพันธมิตรองค์กรชั้นนำ ได้แก่ บริษัท #ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท #ล็อตเตไฟน์เคมิคอล จำกัด บริษัท #เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด #ดีลอยท์ ประเทศไทย และเครือข่ายบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมอาหารอีกมากมาย เสริมโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารและฟู้ดเทคสตาร์ทอัพไทยผ่าน โครงการ SPACE-F ปี 5 พร้อมชี้ตลอดระยะเวลา 5 ปี ช่วยปั้นสตาร์ทอัพได้กว่า 80 ราย จาก 18 ประเทศ และสร้างมูลค่าด้านการลงทุนได้กว่า 2,000 ล้านบาท โดยปีนี้มีสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ SPACE-F ทั้งในส่วนโครงการบ่มเพาะ (Incubator Program) และโครงการเร่งการเติบโตทางธุรกิจ (Accelerator Program) เพิ่มอีก 18 ราย ซึ่งมุ่งเป้าด้านความยั่งยืนและอาหารแห่งอนาคต

 

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า NIA ภายใต้บทบาทผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรมมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ชาตินวัตกรรม ด้วยแนวคิด Groom – Grant – Growth – Global ทั้งมิติการสนับสนุนเงินทุน การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรม การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม และการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง พร้อมกันนี้ยังมุ่งผลักดันนวัตกรรมเพื่อสร้างการเติบโตและเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยที่ผ่านมาได้ผลักดันหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศคือ “นวัตกรรมอาหาร” ผ่าน SPACE-F ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับสากล พร้อมช่วยผลักดันกลุ่มฟู้ดเทคสตาร์ทอัพทั้งในและต่างประเทศ ให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาด และเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมไทยมีความได้เปรียบในด้านการแข่งขันกับทุกบริบทที่เปลี่ยนแปลง”

“SPACE-F เป็นแพลตฟอร์มสำหรับบ่มเพาะและเร่งการเติบโตสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารที่ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในการสร้างโอกาสเข้าถึงเครือข่าย แหล่งเงินทุน และผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำปรึกษา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารให้สามารถพัฒนาแผนธุรกิจและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ตลาด และรองรับกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตที่ต้องเผชิญได้อย่างมั่นคง พร้อมทั้งสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดและนำนวัตกรรมมาพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ทั้งระดับประเทศและระดับสากล ซึ่งจากการดำเนินงานโครงการ SPACE-F ตลอด 5 ปี สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศถึง 2,000 ล้านบาท ช่วยส่งเสริมให้สตาร์ทอัพกว่า 80 ราย จากกว่า 18 ประเทศ สามารถพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความท้าทายในปัจจุบัน เพื่อตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีอาหารของประเทศไทยในเวทีโลก อีกทั้ง SPACE-F ยังสอดรับกับเป้าหมายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมไทยให้เป็น “ครัวของโลก” ซึ่งไทยมีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมอาหารที่เกิดจากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ การลงทุนอย่างต่อเนื่องในนวัตกรรมด้านอาหาร และความมุ่งมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร โดยในปี 2566 ประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารอันดับที่ 12 ของโลก มีมูลค่าการส่งออก 1,255,622.69 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 15 ของโลกในปี 2565 โดยอุตสาหกรรมอาหารไทยสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกได้ด้วยจุดแข็งหลายประการ เช่น การมีผลิตผลทางการเกษตรที่หลากหลายสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตและแปรรูปอาหารประเภทต่างๆ ได้ตลอดทั้งปี ความสร้างสรรค์ ความพร้อมด้านทักษะนวัตกรรม และทำเลที่ตั้งยังเหมาะสำหรับกับการขนส่ง การกระจายสินค้า รวมถึงการลงทุน” ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติม 

 

นายธวัช สุธาสินีนนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม (Global Innovation Center หรือ GIC) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยนมองเห็นอนาคตของอุตสาหกรรมอาหารที่จะเติบโตด้วยนวัตกรรมและความยั่งยืน โดยมุ่งสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คนควบคู่ไปกับการดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล เราเชื่อว่าอนาคตของอาหารขึ้นอยู่กับแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืน เนื่องจากยังมีความต้องการพัฒนาแหล่งโปรตีนใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง การลดขยะอาหาร และการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ วิสัยทัศน์นี้เป็นสิ่งที่โครงการ SPACE-F ร่วมกันสนับสนุน เพื่อช่วยดึงดูดพันธมิตรระดับโลกให้เข้าร่วมโครงการของเรา และสตาร์ทอัพในโครงการ SPACE-F กำลังใช้เทคโนโลยีและความสามารถในการยกระดับความยั่งยืนของระบบอาหารพร้อมสร้างความก้าวหน้า ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าสตาร์ทอัพที่ร่วมเสนอผลงานในโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 5 จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ยั่งยืนและร่วมมือกันในการพัฒนาในอนาคต

 

รศ. ดร.ยศชนัน วงศสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและรักษาการผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก สอดคล้องกับเป้าหมายของ Thailand Future Food Initiative” ที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต เพื่อส่งเสริมการสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลมีความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนผู้ประกอบการทางด้านฟู้ดเทคด้วยทรัพยากร เครื่องมือ ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงคำแนะนำให้กับสตาร์ทอัพ โดย MUI Robotics Co., Ltd. หนึ่งในสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะกับ SPACE-F ในปีนี้ มีผู้บริหารสูงสุดที่บริหารสายงานเทคโนโลโลยี หรือ CTO เป็นบุคลากรจากมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงรุ่นที่ผ่านมาอย่าง Nutricious Co., Ltd. และ Advanced GreenFarm Co., Ltd. ก็มีบุคลากรจากมหาวิทยาลัยมหิดลเช่นกัน ทางมหาวิทยาลัยมหิดลและพันธมิตรมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านฟู้ดเทคอย่างต่อเนื่อง และยินดีต้อนรับสตาร์ทอัพที่มีความสนใจในการพัฒนาโซลูชั่นด้านอาหารให้มาเข้าร่วมโครงการในอนาคต เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนวัตกรรมที่ยั่งยืน และผลักดันให้โครงการ SPACE-F ก้าวสู่การเป็นโครงการบ่มเพาะด้านอาหารระดับโลกต่อไป

 

นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่เนสท์เล่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ SPACE-F นับเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจและเปิดมุมมองใหม่ในการได้สัมผัสวิธีการทำงานที่คล่องตัวของเหล่าสตาร์ทอัพ ซึ่งช่วยให้เกิดการเรียนรู้และปรับตัวอย่างรวดเร็วสำหรับบริษัทขนาดใหญ่อย่างเนสท์เล่ ในขณะเดียวกันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีโอกาสสนับสนุน ให้คำปรึกษา แบ่งปันแหล่งข้อมูล รวมถึงพาผู้ประกอบการไปเยี่ยมชมโรงงานของเนสท์เล่ที่นวนคร และศูนย์วิจัยและพัฒนาที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อช่วยผลักดันให้สตาร์ทอัพเข้าใกล้ความฝันมากยิ่งขึ้น การสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล ไทยยูเนี่ยน รวมถึงพันธมิตรองค์กรชั้นนำอย่างไทยเบฟ  ล็อตเต้  และดีลอยท์ ได้ช่วยเสริมสร้างเครือข่ายอันแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศนี้ เราเชื่อมั่นในพลังของนวัตกรรมและวิสัยทัศน์ของ SPACE-F ที่จะช่วยผลักดันให้สตาร์ทอัพเติบโต ซึ่งเนสท์เล่รู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นความก้าวหน้าและความสำเร็จของพวกเขา และยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเดินทางของพวกเขาต่อไป

 

















สำหรับอีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญอย่าง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (“ไทยเบฟ”) ได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินงาน Proof of Concept (POC) เพื่อให้ฟู้ดเทคสตาร์ทอัพสามารถทดลองและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในสภาพแวดล้อมจริง ช่วยปรับปรุงคุณภาพ เพิ่มความน่าเชื่อถือ และสร้างโอกาสให้แนวคิดเหล่านั้นต่อยอดสู่การพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการในตลาดได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ไทยเบฟยังมุ่งเน้นการส่งเสริมความยั่งยืนในระบบนิเวศธุรกิจผ่านหลากหลายโครงการ เช่น โครงการด้านพลังงานสะอาด เครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (TSCN) และการยกระดับความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานให้มีความรับผิดชอบ ไทยเบฟนับเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโตในระบบนิเวศธุรกิจที่สมดุล ครอบคลุมทั้งมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมอาหารและเทคโนโลยีของประเทศไทยในเวทีโลก

สตาร์ทอัพ 18 ทีมในโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 5 ประกอบไปด้วยฟู้ดเทคสตาร์ทอัพที่มุ่งพัฒนาโซลูชันและผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน โดยโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ (Incubator Program) 9 ราย ได้แก่

1. Full Circle Co., Ltd: ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์ครั้งเดียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

2. Another Food: ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟจากเซลล์พืชด้วยเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์พืช

3. Cantrak: ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการติดตาม ตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และการผลิต

4. Nanozeree: ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ประกอบด้วยโปรไบโอติกและพรีไบโอติก ด้วยเทคโนโลยีการห่อหุ้มระดับนาโน (Nano Encapsulation)

5. Anuvi Food Sciences: ผู้พัฒนาส่วนผสมอาหารจากจุลินทรีย์ที่ได้จากอุตสาหกรรมเอทานอล ด้วยกระบวนการหมักให้เป็นไมโครโปรตีน

6. Algrow Biosciences Pte. Ltd.: ผู้พัฒนาส่วนผสมโปรตีนสูงจากสาหร่าย ด้วยนวัตกรรมการสกัดที่สะอาดและมี
คุณค่าสูง

7. Flavour: ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง ด้วยเทคโนโลยีการหมักเพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นรสชาติ และใช้ผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมเกษตร

8. Beijing BangyaBangya Technology: ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากถั่วงอก ที่สามารถป้องกันอาการเมาค้างได้

9. KronoLife Co., Ltd.: ผู้พัฒนาอาหารเสริมและเครื่องสำอางต่อต้านริ้วรอย โดยมุ่งเป้ากำจัดเซลล์ชราเพื่อสุขภาพผิว
ที่ดีขึ้น

ฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ 9 รายที่เข้าร่วมโครงการเร่งการเติบโตทางธุรกิจ (Accelerator Program) ได้แก่

1. SEATOBAG PTE LTD: ผู้พัฒนาจุลินทรีย์เป็นสารอาหารสำคัญในอาหารสัตว์น้ำ เพื่อช่วยในการย่อยและการดูดซึม
ของสัตว์

2. N&E Innovations: ผู้พัฒนาสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และแผ่นฟิล์มเคลือบอาหารจากเปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์

3. Biodefense led by BioShield: ผู้พัฒนาสารเคลือบอาหารที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาให้ยาวนานขึ้น ลดการสูญเสียของผลผลิตทางการเกษตร ใช้ได้กับทั้งผักผลไม้และเนื้อสัตว์

4. UniFAHS: ผู้พัฒนาเทคโนโลยีเฟจสำหรับควบคุมแบคทีเรียก่อโรคในกระบวนการผลิตปศุสัตว์และประมงด้วยกลไกทางธรรมชาติ ช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะ

5. Prefer Pte Ltd: ผู้พัฒนาสารทดแทนที่มีกลิ่นและรสชาติคล้ายกาแฟด้วยเทคโนโลยีการหมักขนมปัง ถั่วเหลือง และข้าวบาร์เลย์

6. Fattastic Technologies Pte Ltd: ผู้พัฒนาเทคโนโลยีแพลตฟอร์มสำหรับผลิตไขมันจากพืช ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนคุณสมบัติเหมาะสมไปตามการใช้งานของผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบในอุตสาหกรรมอาหาร

7. MUI Robotics Co., Ltd.: ผู้พัฒนาเทคโนโลยีสัมผัสประดิษฐ์ (Artificial Sense) ด้านกลิ่นและรสชาติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

8. Aquivio: ผู้พัฒนาเครื่องจ่ายน้ำอัตโนมัติและบริการน้ำดื่มฟังก์ชันที่ให้ผู้บริโภคสามารถเลือกและปรับแต่งคุณสมบัติได้ตามความชอบและความต้องการของผู้บริโภคแต่ละคน

9. Ingrediome Inc.: ผู้พัฒนากระบวนการผลิตโปรตีนสัตว์ด้วยสาหร่าย ทำให้ได้โปรตีนที่มีความใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง กระบวนการผลิตมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

       โครงการ SPACE-F ปี 6 จะเปิดรับสมัครในเดือนมกราคม 2568 ขอเชิญชวนฟู้ดเทคสตาร์ทอัพทั่วโลกเข้าร่วมโครงการ สตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกจะได้โอกาสเข้าถึงเครือข่าย ทรัพยากรที่สำคัญ แหล่งเงินทุน และผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำปรึกษา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพฟู้ดเทคสตาร์ทอัพและเสริมสร้างระบบนิเวศเทคโนโลยีอาหารทั่วโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Ad