#กสว. - #สกสว. เตรียมเป็นเจ้าภาพร่วมแคนาดา จัดประชุม #GRC2026 โชว์จุดยืนและความพร้อมไทยสู่ผู้นำวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ
กรุงเทพฯ 13 กุมภาพันธ์ 2568 – #กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (#อว.) โดยความร่วมมือของ #สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (#สกสว.) และ #สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (#วช.) ได้ส่งคณะผู้แทนระดับสูง นำโดย ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. และ ศ. ดร.วิษณุ มีอยู่ รองผู้อำนวยการ สกสว. เข้าพบนายซาลวาตอเร อาริโก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสภาวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ (ISC) เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือที่จะยกระดับวงการวิทยาศาสตร์ไทยสู่สากล ซึ่งประเทศไทยกำลังเดินหน้าอย่างแข็งขันในการยกระดับบทบาทสู่การเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่เข้มข้นในเวทีโลก ณ กรุงมัสกัต
ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กสว. กล่าวว่า สภาวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Research Council หรือ ISC) ในฐานะเครือข่ายองค์กรวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่มีสมาชิกกว่า 250 แห่ง เป็นเวทีสำคัญในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ การหารือครั้งนี้เผยให้เห็นความสอดคล้องระหว่างวิสัยทัศน์ของ ISC กับพันธกิจของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กองทุน ววน. โดยเฉพาะการมุ่งพัฒนาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ทั้งนี้ ความร่วมมือที่น่าจับตามองคือโครงการ Advancing Leadership Program (ALP) ภายใต้เครือข่าย Belmont Forum ที่ไทยจับมือกับ NSF สหรัฐฯ เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลก ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาความร่วมมือกับ ISC นอกจากนี้ สกสว. ยังมีแผนพัฒนาระบบสนับสนุนนักวิจัยไทยที่กลับมาทำงานในประเทศ เพื่อสร้างแรงจูงใจและความมั่นใจในการพัฒนาประเทศ
“จุดเด่นของการหารือครั้งนี้ คือการประกาศจุดยืนของไทยในการเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมระดับภูมิภาค โดยพร้อมเป็นศูนย์กลางประสานงานวิจัยสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นท้าทายของภูมิภาค อาทิ การบริหารจัดการน้ำและคุณภาพอากาศ รวมถึงการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน และจะเป็นการต่อยอดในการประชุม Global Research Council ประจำปี 2569 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพร่วมกับแคนาดา สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของไทยในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติอีกด้วย”
อย่างไรก็ตาม การหารือครั้งนี้ไม่เพียงเป็นก้าวสำคัญของไทยในการยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมสู่มาตรฐานสากล แต่ยังแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการวางรากฐานความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลก เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งเอเชียในอนาคต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น