#สจล. เปิด #คณะพยาบาลศาสตร์ ‘ครั้งแรกของไทย’ สุดล้ำกับโมเดล “#พยาบาลนวัตกร” มาพร้อมสกิล “AI – Design Thinking” สมจริงด้วยห้องเรียนสุดล้ำกับระบบเสมือน ตั้งเป้าปั้นพยาบาลยุคใหม่ที่เชี่ยวชาญเทคฯ ช่วยรับมือความเปราะบางตามเทรนด์สุขภาพโลก
กรุงเทพฯ 25 กรกฎาคม 2568 – #สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (#สจล.) เปิดตัว “#คณะพยาบาลศาสตร์” คณะใหม่ล่าสุด ชูธงปั้น “#พยาบาลนวัตกร” ที่เชี่ยวชาญทั้งด้านเทคโนโลยี (Technical Skills) และทักษะความเป็นมนุษย์ (Human Skills) ตอบโจทย์ความท้าทายของระบบสุขภาพไทยในศตวรรษที่ 21 หวังลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ การรองรับโครงสร้างสังคมผู้สูงวัย และการยกระดับคุณภาพระบบสาธารณสุขไทย ด้วยหลักสูตรที่หลอมรวมองค์ความรู้ด้านวิชาการ วิชาชีพ นวัตกรรม และความเข้าใจมนุษย์ไว้ด้วยกัน พร้อมชู 5 จุดเด่น 1.หลักสูตรทันสมัยตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัล 2. เรียนรู้ผ่านห้องปฏิบัติการสมจริงด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ 3.การฝึกภาคสนามสุดเข้มข้น 4.โปรแกรม Student Exchange 100% และ 5. ปลูกฝังทักษะความเป็นมนุษย์ เพื่อสร้างพยาบาลคุณภาพที่พร้อมดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจเอื้ออาทรอย่างแท้จริง
ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่มีเป้าหมายเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม หรือ The world Master of Innovation ที่ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีอย่างยั่งยืน โดยมุ่งผลิตบุคลากรนักศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญงานวิจัย เทคโนโลยี เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรและผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ จากการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ด้านวิชาการเติมเต็มทักษะให้แก่บัณฑิตจาก สจล. ให้มีทักษะที่ทั่วโลกต้องการ หรือ Global Citizen โดย คณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งเปิดรับนักศึกษาในปี 2568 เป็นปีแรกนับเป็นก้าวที่สำคัญของ สจล. ที่ไม่เพียงเป็นการผลิตบุคลากรวิชาชีพพยาบาล หรือการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่ต้องการสร้างบุคลากรพยาบาลวิชาชีพให้มีทักษะพร้อมนำนวัตกรรมมาใช้ดูแลผู้ป่วยและร่วมขับเคลื่อนสุขภาพแห่งอนาคต โดยตลอดการเรียนในหลักสูตร นักศึกษาจะได้รับการส่งเสริมทักษะวิชาชีพพยาบาลด้วยเทคโนโลยีสื่อการสอนสมัยใหม่ พร้อมด้วยห้องปฏิบัติการเสมือนจริงให้นักศึกษาได้ฝึกฝนการพยาบาลผู้ป่วยให้ใกล้เคียงกับเหตุการณ์จริง ซึ่งทำให้บัณฑิตของคณะพยาบาลศาสตร์ สจล. มีทักษะการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับโครงสร้างประชากรของไทยที่เปลี่ยนแปลงไป
ผศ. ดร.บุหงา ตโนภาส รักษาการคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ปัจจุบันระบบสาธารณสุขไทยกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ เนื่องจากประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยมีประชากรสูงวัยในสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าในปี 2576 จะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) โดยคาดว่าจะมีประชากรสูงวัยถึง 28% ของประชากรทั้งประเทศ ส่งผลให้ความต้องการบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่พยาบาลวิชาชีพกลับมีแนวโน้มลดลงแม้ที่ผ่านมามีหลายสถาบันมีหลักสูตรเพื่อผลิตพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่ไม่เพียงพอมีพยาบาลวิชาชีพออกจากระบบเป็นจำนวนมาก ซึ่งข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า อัตราส่วนของพยาบาลวิชาชีพต่อประชากรของไทยอยู่ที่ประมาณ 1:316 ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดอัตราส่วนพยาบาลวิชาชีพต่อประชากรที่ 1 ต่อ 250 คน จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการในด้านการให้บริการทางการดูแลสุขภาพของประชากรไทยได้อย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ ปัญหาโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัญหาสุขภาพมีความซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นบทบาทของพยาบาลวิชาชีพในปัจจุบัน จึงไม่ควรจำกัดอยู่แค่การดูแลรักษาโรคเท่านั้น แต่ต้องสามารถจัดการกับสาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ และออกแบบวางแผนการปฏิบัติตนของผู้ป่วยในการดูแลรักษาสุขภาพ ดังนั้น คณะพยาบาลศาสตร์ สจล. จึงออกแบบหลักสูตรที่มุ่งสร้างพยาบาลยุคใหม่ที่ไม่ใช่แค่มีความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญในสายวิชาชีพเท่านั้น แต่ต้องเป็น “พยาบาลนวัตกร” (Innovative Nurse) ที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีและเป็นนักคิดเชิงระบบที่สามารถคิดค้น พัฒนา ออกแบบเทคนิคหรือวิธีการจัดการปัญหาสุขภาพแบบองค์รวม เข้าใจบริบทที่ส่งผลต่อสุขภาวะของผู้ป่วย และออกแบบการดูแลสุขภาพที่ตอบโจทย์เฉพาะบุคคล (Personal Healthcare) ได้อย่างเหมาะสม และสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้แก่ผู้ป่วย
ผศ. ดร.บุหงา ขยายความเพิ่มเติมว่า นอกจากหลักสูตรการเรียนการสอนที่สอดคล้องตามมาตรฐานวิชาชีพแล้ว คณะพยาบาลศาสตร์ สจล. ยังมีจุดเด่นสำคัญ 5 ประการ ดังนี้
1. หลักสูตรทันสมัย ตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัล ออกแบบให้เป็น “หลักสูตรแห่งอนาคต” ที่บูรณาการศาสตร์ทางการพยาบาลและวิทยาศาสตร์สุขภาพเข้ากับทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม โดยตลอดหลักสูตรผู้เรียนจะได้เรียนรู้และฝึกการใช้เครืองมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ เช่น การประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพด้วย AI และ Big Data, การประยุกต์ใช้ Telemedicine รวมถึงได้ฝึกฝนทักษะการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ (Systemic Thinking) ซึ่งเป็นหัวใจของการออกแบบการดูแลสุขภาพให้มีความเหมาะสมกับการดูแลสุขภาพรายบุคคลหรือรายกลุ่ม พร้อมเสริมทักษะการเป็นผู้ประกอบการ(Entrepreneurship Mindset) และการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เพื่อให้ผู้เรียนมีความคิดเชิงบวก มองหาโอกาสในการพัฒนา สร้างเครือข่ายความร่วมมือ คิดค้นนวัตกรรมด้านสุขภาพที่สร้างสรรค์และใช้งานได้จริง พร้อมผสานมุมมองเชิงธุรกิจ เพื่อปูทางสู่การเป็นผู้ประกอบการด้านสุขภาพในอนาคต
2. ห้องปฏิบัติการสมจริง เทคโนโลยีสุดล้ำ ยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้ เรียนรู้ผ่านห้องปฏิบัติการและเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น การใช้ Human Anatomy VR ในการสอนกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาแบบเสมือนจริง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน หรือ iPad และอุปกรณ์ VR ได้แบบเรียลไทม์ พร้อมจอภาพสามมิติที่หมุนดูได้ 360 องศา ช่วยให้เข้าใจโครงสร้างร่างกายได้อย่างชัดเจน และ สจล.มีสำนักการเรียนรู้ตลอดชีวิต (KLLC) ที่มี E-book, VDO, Journal ให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองไม่จำกัดเวลา สถานที่ มี KMITL Interactive Digital Center - KIDC
นอกจากนี้นักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกประสบการณ์ผ่านห้องปฏิบัติการ "Nursing Simulation Lab" ห้องจำลองผู้ป่วยเสมือนจริงทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ทารก หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ สามารถแสดงอาการได้เหมือนของมนุษย์ เช่น ชัก หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดจังหวะ เพื่อจำลองสถานการณ์ต่างๆ เช่น การดูแลผู้ป่วยวิกฤตที่มีภาวะหายใจล้มเหลว ภาวะช็อก การทำคลอดและการดูแลทารกแรกเกิด เสมือนได้ปฏิบัติการพยาบาลกับผู้ป่วยจริงในโรงพยาบาล
3. ฝึกปฏิบัติภาคสนามเข้มข้น ต่อเนื่อง เสริมประสบการณ์จริงตั้งแต่ปีที่ 2 ผู้เรียนจะได้ฝึกปฏิบัติงานจริงกับสถานบริการสุขภาพและโรงพยาบาลตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 โดยเริ่มจากการฝึกปฎิบัติการพยาบาลพื้นฐานที่สถานบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยไม่ซับซ้อนในโรงพยาบาล เป็นต้น เพื่อสร้างนักศึกษาให้มีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพการพยาบาล มีการสื่อสารและการสร้างสัมพันธภาพที่ดี การสังเกต การประเมินผู้รับบริการ การใช้กระบวนการพยาบาลและหลักการพยาบาลพื้นฐาน และค่อยๆ ขยับสู่โรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ และตติยภูมิ ที่มีความซับซ้อนของการรักษามากขึ้นในปีถัดๆ ไป รวมถึงการฝึกในโรงพยาบาลเอกชนและ Wellness Center ชั้นนำ ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง และเตรียมพร้อมสู่การเป็นพยาบาลวิชาชีพที่พร้อมทำงานจริงตั้งแต่วันแรกที่สำเร็จการศึกษา
4. เปิดมุมมองระดับโลก ด้วยโครงการ Student Exchange แบบ 100% ผู้เรียนทุกคนจะมีโอกาสได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ (Student Exchange) กับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศอย่างน้อยหนึ่งครั้ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งช่วยเปิดโลกทัศน์ เข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลาย และเรียนรู้บริบทการดูแลสุขภาพในระดับนานาชาติ เตรียมความพร้อมสู่การเป็น Global Citizen ที่สามารถทำงานร่วมกับเครือข่ายสุขภาพในระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. ปลูกฝัง Soft Skills สร้างพยาบาลนวัตกรหัวใจเอื้ออาทร นอกจากสมรรถนะเชิงวิชาชีพและทักษะด้านเทคโนโลยีแล้ว สิ่งที่ทำให้คณะพยาบาลศาสตร์ สจล. โดดเด่นและแตกต่าง คือการออกแบบหลักสูตรที่ผสานกันอย่างสมดุลระหว่าง “Professional Skills” และ “Soft Skills” หรือ “Human Skills” โดยหลักสูตรจะมุ่งปลูกฝังทั้งทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ การสื่อสารทางการพยาบาล เช่น ทักษะการฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening) ความเข้าใจในบริบทของผู้ป่วยในมิติต่างๆ ความเห็นอกเห็นใจ การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อสร้างพยาบาลนวัตกรที่มีความเอื้ออาทรในการดูแลผู้ป่วยอย่างแท้จริง และสามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับนักวิจัย นักออกแบบ วิศวะ นักวิทยาศาสตร์ และทีมสหสาขาวิชาชีพ มีความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อพัฒนานวัตกรรมได้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
“เพราะการดูแลสุขภาพไม่ใช่แค่การรักษาโรค แต่คือการออกแบบชีวิตที่มีคุณภาพให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีคุณค่า มีความสุข และอยากมีชีวิตอยู่ต่อ ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และมีหัวใจเอื้ออาทรต่อผู้ป่วยอย่างแท้จริง และนี่คือหัวใจสำคัญของการสร้าง “พยาบาลนวัตกร” ของ สจล. ที่สามารถผสานเทคโนโลยีเข้ากับหัวใจของความเป็นมนุษย์ได้อย่างลงตัว” ผศ. ดร.บุหงา กล่าวปิดท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น